วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Week 9 : เรื่องราวที่นักเรียนสนใจ (3)

เกลือแร่ และเครื่องดื่มเกลือแร่


เกลือแร่ คือ สารอาหารประเภทแร่ธาตุที่มีความจำเป็นสำหรับร่างกาย เป็นสาร electrolyte ที่สำคัญในกระบวนการทำงานของร่างกาย ได้แก่ การควบคุมเมทาบอลิซึม ควบคุมการผลิตฮอร์โมน และควบคุมการผลิตเอนไซม์ เป็นต้น
เกลือแร่เป็นสารจำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนอาหาร และเป็นสารที่เป็นองค์ประกอบของร่างกายที่ขาดไม่ได้ โดยปกติร่างกายคนเราจะประกอบด้วยแกลือแร่ประมาณร้อยละ 4 ของน้ำหนักร่างกาย พบเป็นองค์ประกอบของอวัยวะต่างๆ และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสารเคมีในร่างกายเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และควบคุมการทำงานของร่างกาย
ประโยชน์เกลือแร่
1. ช่วยเสริมสร้างร่างกาย และเป็นส่วนประกอบของร่างกาย
– เป็นส่วนประกอบของอวัยวะในร่างกาย เช่น ธาตุแคลเซียม และฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก และฟัน ช่วยให้กระดูก และฟันเติบโต และทำงานอย่างปกติ
– เป็นส่วนประกอบของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต เช่น ฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบของสารเคมีที่ทำหน้าที่เก็บพลังงานไว้ได้
2. ควบคุมการทำงานของร่างกาย
– เป็นส่วนประกอบของสารเคมีที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต และทำให้ร่างกายทำงานปกติ
– เป็นสารสำคัญสำหรับปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย เช่น ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เป็นสารสำคัญสำหรับกระบวนการเผาผลาญพลังงาน และการใช้น้ำตาลของร่างกาย ส่วนคลอรีนเป็นองค์ประกอบของกรดสำคัญในกระบวนการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
– เป็นสารสำคัญของกระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบกระแสประสาท เข่น แคลเซียมทำหน้าที่สำคัญของการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ  หรือแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม และโพแทสเซียม มีความจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท
– ควบคุมการทำงานของกระบวนการอื่นๆ อาทิ แคลเซียมมีหน้าที่สำคัญสำหรับการแข็งตัวของเลือด ส่วนโซเดียม และคลอรีนทำหน้าที่ช่วยในด้านความสมดุลน้ำในร่างกาย  และช่วยการไหลเวียนของเหลวในร่างกาย นอกจากนั้น โซเดียม และฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบสำคัญของสาร buffers ที่ทำหน้าที่ควบคุมความเป็นกรด-ด่าง  ของเลือดในรางกาย
อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte)
อิเล็กโทรไลต์ คือ เกลือแร่ที่เป็นประจุไฟฟ้า ที่ละลายอยู่ในของเหลวของร่างกาย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. เกลือแร่ที่ละลายแล้วให้ประจุบวก ได้แก่ โซเดียม (Na+) โพแทสเซียม (K+) แคลเซียม (Ca+) และแมกนีเซียม (Mg+)
2. เกลือแร่ที่ละลายแล้วให้ประจุลบ ได้แก่ คลอไรด์ (Cl) ไบคาร์บอเนต (HCO3) ไบฟอสเฟต (HPO4)
ประเภทของเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย
1. เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการมาก (Macronutrients/Principal elements) เป็นเกลือที่พบเป็นส่วนใหญ่ในร่างกาย และร่างกายมีความต้องการมาก ได้แก่ ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม คลอรีน เหล็ก และกำมะถัน
2. เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการน้อย (Micronutrients/Trace elements) เป็นเกลือแร่ที่พบในปริมาณน้อยในร่างกาย และร่างกายมีความต้องการน้อย โดยทั่วไปจะพบเพียงร้อยละ 0.005 ของน้ำหนักตัว ได้แก่ ทองแดง แมงกานีส ไอโอดีน ฟลอรีน สังกะสี โคบอลต์ โมลิบดีนัม โครเมียม และซิลีเนียม
แคลเซียม (Calcium)
แคลเซียม เป็นชนิดเกลือแร่ที่พบมากที่สุดในร่างกาย ประมาณ 1,200-2,000 กรัม หรือ ร้อยละ 1.5-2.0 ของน้ำหนักตัว และมีปริมาณร้อยละ 39 ของแร่ธาตุทั้งหมดที่พบในร่างกาย โดยพบมากในส่วนของกระดูกของงร่างกาย ความต้องการแคลเซียมในเด็กจะประมาณ 400-700 มิลลิกรัม/วัน ส่วนผู้ใหญ่จะประมาณ 400-500 มิลลิกรัม/วัน และจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายบริเวณลำไส้เล็กประมาณร้อยละ 40 จากปริมาณแคลเซียมจากอาหารที่ได้รับ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการสร้างกระดูก และฟัน ช่วยการแข็งตัวของเลือดจากการเกิดบาดแผล ใช้ในกระบวนการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ การทำงานกล้ามเนื้อของหัวใจ ช่วยในการสังเคราะห์ acetylcholine ที่เป็นสารสำหรับการถ่ายทอด และนำส่งกระแสประสาท และช่วยเพิ่มปริมาณ permeability ของผนังเซลล์ ทำให้การดูดซึมสารเข้าสู่เซลล์ดีขึ้น สำหรับปริมาณแคลเซียมในกระแสเลือดจะพบประมาณ 10 มิลลิกรัม จากเลือด 100 ซีซี หากปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำจะทำให้ประสาทไวผิดปกติ อาจรุนแรงถึงเกิดอาการชัก แต่หากปริมาณแคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติจะทำให้ระบบประสาทช้าลง
โซเดียม (Sodium)
โซเดียมที่พบในร่างกายมนุษย์มีประมาณ 100 กรัม ส่วนใหญ่เป็นสารให้ประจุบวก พบมากบริเวณของเหลวนอกเซลล์ โดยส่วนใหญ่ร่างกายจะได้รับโซเดียมในรูปเกลือแกง และจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดบริเวณลำไส้ ประมาณร้อยละ 85-90 ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกในรูปเกลือของฟอสเฟต และคลอไรด์ ซึ่งระดับโซเดียมในร่างกายจะถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนจากต่อมอะดรีนาล การสูญเสียโซเดียมส่วนใหญ่มักสูญเสียไปกับเหงื่อ และอาการท้องร่วง หากร่างกายขาดโซเดียมมากจะเกิดตะคิว และมีอาการขาดน้ำ เนื่องจากโซเดียมมีความสำคัญต่อการควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย รักษาความเป็นกรด-ด่างของเลือด ช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และช่วยในการดูดซึมกลูโคส
โพแทสเซียม (Potasium)
โพแทสเซียมในร่างกายของคนเรามีประมาณ 250 กรัม เป็นสารที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำ และแรงดันออสโมซีสในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ เป็นตัวเร่งกระบวนการเมทาบอลิซึม ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน และกลูโคส และช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ ส่วนใหญ่พบเป็นองค์ประกอบของของเหลวภายในเซลล์ ปริมาณโพแทสเซียมในเม็ดเลือดแดงจะพบมากเป็น 20 เท่า ของพลาสมา และในกล้ามเนื้อมีมากกว่าโซเดียมประมาณ 6 เท่า โพแทสเซียมในร่างกายส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับโซเดียม เพราะเมื่อมีการดูดน้ำเข้าเซลล์ โพแทสเซียมจะเคลื่อนจากเลือดเข้าสู่เซลล์ และขับโซเดียมออกนอกเซลล์ เรียกกระบวนการนี้ว่า Sodium pump ส่วนโพแทสเซียมที่ถูกขับออกนอกเซลล์จะเกิดจากการสลายตัวของโปรตีน การสลายตัวของไกลโคเจน และภาวะการขาดน้ำของเซลล์  หากเกิดภาวะการขาดโพแทสเซียมจะทำให้ร่างกายอ่อนเปลี้ย มีอาการ และเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต ลำไส้ไม่ทำงาน กล้ามเนื้อระบบหายใจ และหัวใจผิดปกติ แต่หากมีปริมาณโพแทสเซียมมากเกินไปจะทำให้การหายใจช้าลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
แมกนีเซียม (Magnesium) เป็นสารที่ช่วยในการถ่ายทอด และรับส่งกระแสประสาท ช่วยในการหด และคลายตัวของกล้ามเนื้อ และช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเร็ว
ผลิตภัณฑ์เสริมเกลือแร่ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1. Enriched Beverage ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ และผลิตภัณฑ์น้ำเสริมวิตามิน
2. Sport Drinks คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่
3. Energy Drinks คือ ผลิตภัณฑ์เสริมพลังงาน
4. Nutraceuticals คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอาหารหรือเกลือแร่ เพื่อบำรุง และเสริมสร้างร่างกายหรือใช้ในทางการแพทย์โดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมไปถึงในด้านความสวยความงาม และดีท็อกซ์ เป็นต้น
เครื่องดื่มเกลือแร่
เครื่องดื่มเกลือแร่ (Sports Drink/Electrolyte Drink) หมายถึง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารเกลือแร่ ทั้งอยู่ในรูปผงชนิดซองบรรจุ และในรูปของสารละลายในภาชนะบรรจุขวดหรือกระป๋อง ใช้สำหรับชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียจากกิจกรรมที่ร่างกายทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเหงื่อมาก อาทิ อาการท้องเสีย การออกกำลังกาย การทำงาน เป็นต้น เป็นเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยน้ำ แร่ธาตุ และสารให้พลังงานต่างๆที่จำเป็นต่อร่างกาย ทำให้มีความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
เครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดผง
ภายหลังจากเกิดอาการท้องเสีย การทำงาน การออกกำลังกายที่ทำให้เกิดเหงื่อมาก ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียน้ำ และแร่ธาตุ หากดื่มน้ำเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดื่มน้ำที่ผสมเกลือแร่ น้ำตาล และสารอื่นๆ เพื่อชดเชย และช่วยบำรุงร่างกายให้กลับมาทำงานปกติ
ปัจจุบันเครื่องดื่มเกลือแร่เป็นเครื่องดื่มที่นิยมมากสำหรับคนออกกำลังกายหรือคนทำงานที่สูญเสียเหงื่อมาก เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีส่วนผสมของน้ำ แร่ธาตุ น้ำตาล และสารอื่นๆที่เหมาะสำหรับการชดเชยการสูญเสียน้ำ และแร่ธาตุของร่างกาย
เครื่องดื่มเกลือแร่ในเมืองไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ที่ผลิตขึ้นในยี่ห้อ “สปอนเซอร์” ตามมาด้วย บริษัท โอสถสภา จำกัด ในยี่ห้อ “เอ็มสปอร์ต” และยี่ห้อ “เกเตอเรด” ของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) และตามด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากหลายบริษัท ทั้งผลิตในประเทศ และต่างประเทศ
ประโยชน์ของเครื่องดื่มเกลือแร่
1. ชดเชยเกลือแร่ และพลังงานที่ร่างกายสูญเสียไจากการท้องเสีย การออกำลังกาย และการทำงานหนัก
2. ช่วยแก้การกระหายน้ำ จากการสูญเสียน้ำหรือเสียเหงื่อมาก
3. เพิ่มความสดชื่น และกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย จากสารให้พลังงานพวกน้ำตาล
4. เพิ่มระดับเกลือแร่ให้ร่างกาย จากภาวะการขาดหรือการสูญเสียเกลือแร่ของร่างกาย ทำให้สมดุลของเหลวในร่างกายทำงานปกติ
ข้อควรระวังก่อนดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่
โดยทั่วไปร่างกายจะได้รับเกลือแร่จากอาหารในชีวิตประจำวันที่เพียงพออยู่แล้ว การใช้เครื่องดื่มเกลือแร่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ เกลือแร่ และพลังงานของร่างกายในภาวะอาการท้องเสีย การออกกำลังกาย การทำงานหนัก การป่วยหรือกิจกรรมอื่นที่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ หากมีการบริโภคเกลือแร่จากแหล่งอื่นมากเกินความต้องการของร่างกาย อาจทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติไป โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต โรคระบบประสาท โรคระบบกล้ามเนื้อ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เกินความจำเป็น
การใช้เครื่องดื่มเกลือแร่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ เกลือแร่ และพลังงานของร่างกายในภาวะอาการท้องเสีย การออกกำลังกาย การทำงานหนัก การป่วยหรือกิจกรรมอื่นที่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่
ที่มา